เมื่อพูดถึงการทำงานในองค์กรธุรกิจ ภาพที่คนทั่วไปมักจะคิดถึงไปด้วยคือ ภาพการแข่งขันที่รุนแรง
การคิดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อเอาชนะคู่แข่ง การแสวงหากำไรเข้าสู่องค์กรให้มากที่สุด ภาพผู้บริหารที่มองแต่ตัวเลขเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ทำให้เมื่อมีใครพูดถึงคำว่าธรรมะในที่ทำงานแล้ว กลับกลายเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากการทำงานเหมือนเป็นคนละเรื่อง
แต่ในความคิดของผมแล้วคำว่าธรรมะเป็นเรื่องเดียวกับการทำงาน และไม่ใช่เพียงคำพูดสวยงามที่ใช้ประกอบกันเท่านั้น แต่ผมหมายถึง ถ้าหากเราพิจารณาให้ดีแล้ว คำว่าธรรมะมีอยู่ในทุกขั้นตอนของการทำงานจริงๆ และธรรมะนั้นเองที่สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าในการทำงานให้กับเราได้ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม สำหรับในคอลัมน์เดือนนี้ผมขอเริ่มด้วยการออกแบบเป้าหมายการทำงานด้วยอาศัยหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง ที่ต้องพูดเรื่องนี้ก่อน เพราะสังเกตว่าทุกวันนี้คนจำนวนมากทำงานกันแบบสุดโต่งกันทั้งสองขั้วจริงๆ นั่นคือถ้าไม่ตึงเกินไปจนเป็นอาการ Workaholic ก็เป็นพวก Deadwood ที่ไม่จริงจังไม่ทำงานให้สำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน
กลุ่ม Workaholic นั้น จะสนใจแต่การทำอย่างไรก็ได้ ให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เคร่งครัดกับเป้าหมายจนละเลยตัวเอง ทุ่มเทและเกือบจะละทิ้งทุกอย่างในชีวิต เพื่อทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จให้ได้ ในที่สุดแล้วงานก็อาจจะบรรลุผลจริงๆ แต่คนกลุ่มนี้ก็จะมีความเครียดสะสมสูง มีอารมณ์แปรปรวน เจ็บป่วยง่าย ขาดสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง นานวันไปแทนที่จะสามารถทำทุกอย่างได้ดีในระยะยาว กลับกลายเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่
ส่วนกลุ่ม Deadwood นั้น ไม่สนใจที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ใช้ชีวิตเลื่อนลอยเชื่องช้าแฝงตัวอยู่ในองค์กร ไม่ใช้ความพยายามใดๆ ในการทำงาน ไม่ชอบการเรียนรู้หรือถูกพัฒนาใดๆ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง มีทัศนคติลบต่อองค์กร นานวันไปนอกจากจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่คาดหวัง ยังเป็นเหมือนต้นทางแพร่เชื้อทัศนคติลบต่อคนรอบข้างในองค์กร ให้กลายเป็น Deadwood เพิ่มไปด้วย เชื่อว่าในทุกองค์กรมักจะมีส่วนผสมของพนักงานสองประเภททั้ง “ตึง” และ “หย่อน” ปะปนกันไป และโจทย์อย่างหนึ่งในการบริหารคนคือ การดูแลบุคคลสองประเภทนี้นั่นเอง
ในวันนี้ผมจะขอพูดถึงการดูแลพนักงานประเภทบ้างานหรือ Workaholic ก่อน ถ้าเราสังเกตให้ดีแล้ว สาเหตุที่กลุ่ม Workaholic ลุกขึ้นมาทำทุกอย่างอย่างหามรุ่งหามค่ำ มักจะเป็นคนที่มี “ความกลัว” บางอย่างแฝงอยู่ในจิตใจลึกๆ เช่น กลัวว่าจะโดนดูถูกเมื่องานไม่สำเร็จตามที่คนอื่นคาดหวัง กลัวไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ต้องการยึดตำแหน่งงานให้แน่นที่สุด เพราะกลัวตกงาน ในขณะเดียวกัน ก็จะเป็นกลุ่มที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก เป็นพวกที่ชอบความสมบูรณ์แบบ
การชอบความสมบูรณ์แบบนั้น โดยตัวมันเองเป็นเรื่องที่ดี ส่วนความกลัวในจิตใจนั้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขกันได้ง่ายๆ ในฐานะผู้บริหารที่ดูแลพนักงานเหล่านี้ สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อปรับบุคคลที่มีความ “ตึง” เหล่านี้ให้ “พอดี” ด้วยการปรับเป้าหมายการทำงาน เช่น ตรวจสอบเป้าหมายการทำงานของพนักงานว่า อยู่ในระดับยากเกินความสามารถจนเป็นไปไม่ได้-ยากกว่าความสามารถเล็กน้อยจนเกิดความท้าทาย-พอดีกับระดับความสามารถ-ต่ำกว่าความสามารถจนง่ายเกินไปและไม่น่าสนใจ
หากเป้าหมายในการทำงานของคนๆ นั้น อยู่ในระดับยากเกินไป ปริมาณเป้าหมายมีมากเกินไป ระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป ต้องดูแลรับผิดชอบทรัพยากรมากเกินไป ก็มีโอกาสที่พนักงานจะเกิดอาการ “ตึง” ได้ง่ายๆ เพราะถึงแม้พนักงานจะรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกินความสามารถไปมาก แต่ก็ต้องเค้นแรงทำให้ได้มากที่สุด เพราะความกลัว ผู้บริหารบางคนอาจพึงพอใจกับการตั้งเป้าหมายที่ยากจนเกินความสามารถของพนักงานจนกลายเป็นความเคยชิน นั่นอาจจะช่วยกระตุ้นผลงานในระยะสั้นได้บ้าง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะความ “ตึง” ทั้งองค์กรจะทำให้เกิดความเสียหายหลายๆ ด้านในระยะยาวได้
ในการออกแบบเป้าหมายการทำงานไม่ให้ตึงและหย่อนจนเกินไปนั้น ผู้บริหารสามารถหาข้อมูลได้จากการเทียบการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Work Performance) และผลการประเมินศักยภาพ (Work Potential) ตามที่เคยเกริ่นวิธีการในคอลัมน์ฉบับก่อนๆ นำมาเทียบกับเป้าหมายการทำงานที่พนักงานมีอยู่ และตั้งเกณฑ์เพื่อประเมินระดับว่า เป็นเป้าหมายที่ยากเกินไปมาก-ยากเกินไปเล็กน้อย-พอดีกับความสามารถ-ต่ำกว่าความสามารถที่พนักงานมี โดยปกติที่ผมแนะนำนั้นเป้าหมายที่ดีควรประกอบด้วยเป้าหมายที่ “ยากกว่าความสามารถเล็กน้อย” 40-50% เพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีความรู้สึกท้าทาย มีความรู้สึกต้องการพัฒนาตัวเองและคิดหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงานให้สำเร็จ และเป็นเป้าหมายที่ “พอดีกับความสามารถ” ประมาณ 50-60% เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานให้กับองค์กรตามปกติได้อย่างราบรื่น
สรุปในส่วนแรกคือ การตั้งเป้าหมายจากองค์กรที่เหมาะสม เดินทางสายกลาง ไม่ยากจนบีบเกินไป และไม่ง่ายจนหมดความน่าสนใจ จะสามารถลดความตึงของกลุ่ม Workaholic ลงให้พอดี เพื่อช่วยรักษาบุคลากรกลุ่มนี้ ให้อยู่กับองค์กรอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีผลงานที่ดีในระยะยาวได้ครับ
สำหรับฉบับถัดไป เราจะมาลองคุยเรื่องการตั้งเป้าหมายให้กับกลุ่ม Deadwood ซึ่งจะมีความซับซ้อน และท้าทายสำหรับนักบริหารยิ่งขึ้นครับ สวัสดีครับ