ในทางการทำงานและการศึกษา พวกเราต่างคุ้นเคยกับคำว่าอิทธิบาทสี่มาแล้วเป็นอย่างดี คำว่าอิทธิบาทสี่
หรือหนทางแห่งความสำเร็จทั้งสี่นั้น ประกอบด้วย ความรักในงานที่ทำ คือฉันทะ ความมุ่งมั่นในงานที่ทำ คือวิริยะ การเอาใจใส่จดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่คือจิตตะ และการหมั่นตรวจสอบปรับปรุงงานที่ทำให้ถูกต้อง และดียิ่งขึ้นไป คือวิมังสา ซึ่งไม่ว่าในการเรียนหรือการทำงาน หากเรามีครบทั้งสี่อย่าง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีมาก
อย่างไรก็ดี เมื่อเรานำบุคคลๆ หนึ่งมาวางในทีมงาน เราไม่ควรคาดหวังรอคอยว่า อุปนิสัยทั้งสี่นั้น จะเกิดขึ้นจากพนักงานได้เองโดยอัตโนมัติ เหมือนนำต้นไม้มาปลูกในสวน แล้วนั่งรอว่า สักวันคงจะงอกงามเอง ในฐานะผู้บริหารด้านบุคลากร หน้าที่ของเราไม่ใช่เพียงแค่ “จัดวาง” เท่านั้น แต่ต้องหมั่น “ใส่ปุ๋ย รดน้ำ กำบังลมพายุ ตรวจหาโรคภัย ป้องกันแมลงศัตรูพืช” อยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าต้นไม้แห่งบุคลากรนั้นจะงอกงามได้ตามที่เราอยากเห็น ไม่ใช่การเติบโตอย่างขาดการเอาใจใส่
ดังนั้น เมื่อองค์กรต้องการสร้างอุปนิสัยแห่งอิทธิบาทสี่ ให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงาน สิ่งที่ผู้บริหารพึงกระทำ ไม่ใช่เพียงแค่การสื่อสารให้พนักงานรับทราบอย่างทั่วถึงว่า กำลังถูกคาดหวังให้มีลักษณะอย่างไรเท่านั้น เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การ “ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง” นั่นเอง และผู้นำในระดับต่างๆ ทั้งระดับสูงสุดลงไปจนถึงระดับหัวหน้าทีมเล็กๆ จะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี
ในด้านฉันทะ ซึ่งหมายถึงความรักในงานที่ทำ ทุกคนคงทราบดีว่า เราจะทำงานได้ดีที่สุด ทำอย่างมีความสุข ทำอย่างแทบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ถ้าหากงานนั้นเป็นสิ่งที่เรารัก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว น้อยคนเท่านั้นที่จะได้ทำในงานที่ตัวเองรักจริงๆ หรือแม้แต่ในการทำงานที่เรารักก็ยังมีองค์ประกอบปลีกย่อย ในงานที่เราไม่อยากทำปนอยู่ ผู้นำที่เป็นตัวอย่างจึงต้องแสดงให้เห็นให้ได้ว่า ถึงจะไม่ใช่งานที่เราชอบ แต่เราจะปรับตัวให้ชอบ หรือมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากขึ้นได้อย่างไร เช่น การปรับปรุงบรรยากาศในการทำงานชิ้นนั้นๆ ให้มีความสนุกสนานมากขึ้น การหาองค์ประกอบอื่นๆ มาเสริม เพื่อให้งานดูมีชีวิตชีวา หรือหากมองหาแง่มุมบวกจากงานบางอย่างไม่ได้จริงๆ ผู้นำอุปนิสัยนั้นก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างให้ได้ว่า จะฝ่าฟันเพื่อทำให้งานที่เราไม่ชอบบรรลุผลเพื่อภาพรวมให้งานทั้งหมดของเราสำเร็จได้อย่างไร
ด้านวิริยะ ผู้นำต้องแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ความวิริยะไม่ได้หมายถึงการทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายหามรุ่งหามค่ำ แต่หมายถึง ความไม่ย่อท้อเมื่อพบอุปสรรค มีความรับผิดชอบไม่ละทิ้งหน้าที่หรือเกี่ยงงานจนกว่างานจะบรรลุผลตามแผน ทั้งนี้ ความวิริยะไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหมั่นฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมอีกด้วย
ด้านจิตตะ การเอาใจใส่จดจ่อไม่เสียสมาธิ ไม่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากผู้นำจะต้องแสดงความแน่วแน่ให้เป็นตัวอย่างแล้ว ยังต้องรู้จักใช้เครื่องมือต่างๆ ในการช่วยบริหาร เช่น เช็คลิสต์กิจกรรมต่างๆ ว่ากระทำไปถึงจุดไหนแล้ว ตารางเวลากิจกรรมแบบ Gantt Chart ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดูข้อมูลรู้ได้ว่า ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร จะต้องทำอะไรต่อ ใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง กำหนดเสร็จเมื่อไร ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สภาพปัจจุบัน เป้าหมาย วิธีการ และไม่เบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ด้านวิมังสา หรือการตรวจสอบปรับปรุงงานที่ทำให้ถูกต้องและดียิ่งๆ ขึ้นไป เป็นสิ่งสำคัญมาก หากเราต้องการให้กิจกรรมของเราเกิดความผิดพลาดน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ต้นทุนและการลองผิดลองถูกลดลง เกิดประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้มากขึ้น ผู้นำไม่ใช่เพียงแสดงเจตนาในการแน่วแน่หาข้อผิดพลาด เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่านั้น เครื่องมือในการช่วยบริหารต่างๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ต้องนำมาใช้ให้หมด ทั้งการเก็บข้อมูลและสร้างกราฟสถิติ ความถี่ในการเกิดปัญหา และหาความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุ สร้างเกณฑ์ในการวัดผลว่า ผลลัพธ์สถิติประเภทใดถือว่าสิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จ ได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ ที่เคยทำมา วิธีใดที่ไม่ได้ผล ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ
จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ในเรื่องพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของธรรมะเพื่อการละกิเลสและชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ยังเป็นธรรมะเพื่อให้เราปรับใช้ให้สอดคล้องกับทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการครองเรือน การผูกสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การเข้าใจความเป็นไปของโลก และการทำกิจการงานหรือการศึกษาให้บรรลุผลอีกด้วย
ผมเชื่อว่าต่อให้ในวงการบริหารจะมีเครื่องมือ ทฤษฎี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายอย่างไร แต่นักบริหารทรัพยากรบุคคลที่ศึกษาพระธรรม และนำมาปรับใช้ในการทำงาน จะมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อนในการบริหาร และพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นมาก