Do What You Love
ทำในสิ่งที่รัก แล้วคุณจะทำงานนั้นอย่างมีความสุขไปตลอดชีวิต
สมาคมยุวพุทธฯ ขออนุญาตนำบทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล มาแชร์ให้ทุกท่านได้เกิดแรงบันดาลใจในการคิดและทำงานได้อย่างมีสุข มีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อธรรมที่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรงก็คือ อิทธิบาท4
บทสัมภาษณ์นี้ มีการยกตัวอย่างที่ชัดเจน น่าสนใจ น่าติดตาม และทุกท่านสามารถนำไปใช้ได้ง่ายๆในชีวิตจริง
1) ถาม – อยากให้แสดงข้อคิดหรือธรรมะในเรื่องธรรมเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันคนมีปัญหาในการทำงานมากขึ้น
พระไพศาล – เวลาทำงาน สิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความสุข รวมทั้งความสำเร็จ คือแรงจูงใจ พระพุทธศาสนามองว่า แรงจูงใจที่สำคัญคือ “ฉันทะ” แปลง่าย ๆ ว่าความชอบหรือความรักในงาน ฉันทะทำให้อยากทำ ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “ตัณหา” ที่แปลว่าความอยากได้ หลายคนทำงานไม่ได้เพราะอยากทำ แต่เพราะอยากได้ เช่นอยากได้เงินเดือน อยากได้ความสำเร็จ อยากได้การยอมรับ ก็เลยต้องทำงาน เพราะงานเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ได้ทั้งเงิน ทั้งความสำเร็จ และการยอมรับ ชื่อเสียงเกียรติยศ อันนี้คือ “ตัณหา”
ความอยากอีกแบบคืออยากทำ อยากทำเพราะรักในงานนั้น อันนี้เป็นแรงจูงใจที่สำคัญ เพราะว่าถ้าเรามีความอยากแบบนี้ เราจะทำงานอย่างมีความสุข ที่รักงานนั้นก็เพราะว่าเห็นคุณค่าของงาน เช่นเห็นว่างานนี้มีประโยชน์ งานนี้เปิดโอกาสให้ฉันได้ใช้ศักยภาพให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นโอกาสใช้ความคิดสติปัญญาสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ หรือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนพัฒนาตน เป็นโอกาสได้ช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยเหลือส่วนรวม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ถ้าเห็นว่างานมีคุณค่า ฉันทะในงานก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย และทำให้เกิดความสุขเวลาทำงาน แม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขที่ได้ทำงาน
มีเรื่องเล่าที่ช่วยให้เห็นชัดขึ้น คือ มีคนสามคนก่ออิฐอยู่ใกล้ๆ กัน คนแรกทำได้สักพักก็หยุด ไปสูบบุหรี่ ฆ่าเวลา จากนั้นค่อยทำงานต่อ อีกคนดูขยันกว่า แต่ทำงานไปก็ดูเวลาไป รอเวลาเลิกงาน ส่วนคนที่สามนั้นทำงานอย่างกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง เมื่อถามคนแรกว่ากำลังทำอะไร คนแรกตอบว่ากำลังก่ออิฐ คนที่สองตอบว่าผมกำลังก่อกำแพง ส่วนคนที่สามตอบมาว่า ผมกำลังสร้างวัดครับ
จากเรื่องที่เล่า เราคงนึกออกว่าในสามคนนี้ ใครที่ทำงานอย่างมีความสุข นั่นคือคนที่สาม เขามีความสุขที่สุด ทั้งๆ ที่เหนื่อยกว่า นั่นเป็นเพราะเขาเห็นว่างานที่เขาทำนั้นมีความหมาย คือเป็นการสร้างบุญกุศล ช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนา เขาจึงทำงานอย่างกระตือรือร้นและมีความสุข คนที่สามทำงานอย่างมีฉันทะ เนื่องจากเห็นคุณค่าของงาน ส่วนคนแรกกับคนที่สองทำงานเพราะอยากได้ค่าจ้าง รอเงินเดือน ดังนั้นคนแรกจึงทำงานแบบขอไปที เช่นเดียวกันคนที่สอง
เรื่องเล่านี้สะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างฉันทะกับตัณหา ฉันทะทำให้ขยันขันแข็ง และที่มีฉันทะได้ก็เพราะเห็นคุณค่าของงาน ซึ่งต้องอาศัยวิสัยทัศน์ ดังนั้นหากจะมีฉันทะในงานใดก็ตามคุณต้องเห็นคุณค่าของงานนั้นก่อน ซึ่งรวมถึงมองไกลด้วย ถ้ามองแบบนี้แม้คุณทำงานอะไร ไม่ว่าจะเป็น ภารโรง คนสวน พยาบาล คุณก็จะมีความสุข เพราะเห็นว่างานที่คุณทำมีส่วนช่วยสร้างอนาคตของชาติ(ในกรณีที่ทำงานในโรงเรียน) หรือช่วยให้คนอยู่ดีมีสุขปลอดพ้นจากความเจ็บความป่วย(ในกรณีที่ทำงานในโรงพยาบาล) ถึงแม้จะเป็นคนสวน เป็นยามเฝ้าหน้าโรงเรียน คุณจะทำงานอย่างมีความสุขได้ นี่เป็นประเด็นแรกคือแรงจูงใจ
ประเด็นที่สอง คือการวางใจในการทำงาน หลายคนทำงานแล้วเกิดความเครียด ส่วนใหญ่เกิดจากความวิตกกังวล และที่วิตกกังวลก็เพราะใจมัวไปจดจ่ออยู่ที่เป้าหมาย หรืออยู่ที่จุดหมายปลายทาง เช่น มัวแต่คิดว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ หรืองานจะออกมาดีมั้ย เจ้านายจะว่ายังไง เขาจะต่อว่าเราไหม อย่างนี้เรียกว่าใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจไปอยู่กับอนาคต อาตมาอยากแนะนำว่า เวลาทำงานถ้าใจอยู่กับงานจะมีสมาธิ และความกังวลจะน้อยลง
มีหลายคนมาบอกอาตมาว่า เวลาทำงานก็นึกถึงลูก แต่เวลาอยู่กับลูกก็คิดถึงงาน ผลที่ตามมาคืออะไร งานออกมาไม่ดี เพราะไม่มีสมาธิ ครั้นเวลาอยู่กับลูกก็อารมณ์ไม่ดี เพราะห่วงงาน บางทีก็หงุดหงิดใส่ลูกโดยไม่รู้ตัว บางคนเวลานอนก็ไม่หลับเพราะกังวลกับงาน พอมาทำงานก็กลับง่วงนอน ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้าใจอยู่กับปัจจุบัน คุณจะเครียดน้อยลง วิตกกังวลน้อยลง
คนส่วนใหญ่เวลาทำงานไม่ได้ทุกข์เพราะเนื้องาน แต่กังวลว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ ดังนั้นถ้าใจอยู่กับงาน ไม่ต้องสนใจว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ งานจะออกมาอย่างไร ก็วางไว้ก่อน ถือว่าเป็นเรื่องอนาคต แต่จะใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน ก็จะมีความทุกข์น้อยลง ในทำนองเดียวกันเวลาทำงานก็ไม่ต้องเปรียบเทียบหรือมองคนอื่น ถ้าคุณทำงานโดยไม่สนใจว่าคนอื่นทำงานน้อยกว่า ได้เงินมากกว่า คุณจะไม่เครียด แต่ที่ทุกข์เพราะชอบมองออกไปนอกตัว หรือเปรียบเทียบคนอื่นกับตนเอง ก็เลยเป็นทุกข์เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ กินแรง ไม่ได้รับความเป็นธรรม
เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้วสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมีรายการพลเมืองเด็ก โดยเอาเด็กสามคนมาทำกิจกรรม คล้าย ๆ เรียลลิตี้โชว์ คราวหนึ่งให้เด็กสามคนซึ่งอายุประมาณ ๑๒-๑๓ ขวบทำงานชิ้นหนึ่ง คือขนของขึ้นรถไฟ รถไฟนั้นมีเวลาออกที่แน่นอน ดังนั้นจึงต้องรีบขน เผอิญบ่ายนั้นสมจิตร จงจอหอ นักชกเหรียญทองโอลิมปิก ขึ้นชก มีการถ่ายทอดสดพอดี เด็กสองคนซึ่งเป็นผู้ชายก็ทิ้งงาน ไปดูมวยในร้านกาแฟ ปล่อยให้เพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงทำคนเดียว
พิธีกรเห็นเด็กผู้หญิงทำงานอย่างกระตือรือร้น จึงเข้าไปถามว่า คิดยังไงที่เพื่อนทิ้งงานให้หนูทำคนเดียว เธอตอบว่า เห็นใจเขาเพราะเขาชอบสมจิตร นาน ๆ จะได้ดูสมจิตรขึ้นชก พิธีกรก็ยังไม่พอใจคำตอบ จึงถามไปอีกว่า หนูไม่โกรธหรือคิดจะต่อว่าเพื่อนหรือที่ทิ้งงานให้หนูทำคนเดียว เด็กผู้หญิงตอบไปว่า “หนูขนของขึ้นรถไฟหนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูไปโกรธหรือต่อว่าเขา หนูก็เหนื่อยสองอย่าง”
เด็กคนนี้ฉลาด เธอรู้ว่าถ้าจะเหนื่อยก็ควรเหนื่อยอย่างเดียว คือเหนื่อยกาย ไม่ควรเหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยใจด้วย แต่ถามว่าคนส่วนใหญ่ถ้าเจอแบบนี้จะเหนื่อยกี่อย่าง ส่วนใหญ่เหนื่อยสองอย่าง เพราะมัวแต่สอดส่ายดูคนอื่น หรือเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ดังนั้นถ้าเราอยากทำงานให้มีความสุข ก็ไม่ควรไปสนใจคนอื่นมากนัก ใครจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ในขณะที่เราทำงาน ใจเราก็อยู่กับงาน ถึงจะเหนื่อย ก็เหนื่อยแค่กาย ใจไม่เหนื่อย จริงอยู่การที่เพื่อนกินแรงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่นั่นเป็นเรื่องที่ว่ากันทีหลัง ระหว่างที่ทำงานก็วางเรื่องนี้ไว้ก่อน เสร็จงานแล้วค่อยไปสะสางกันว่าอะไรถูกอะไรควร ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องการวางใจในการทำงาน คือวางใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่มัวมองนอกตัว วางจุดหมายปลางทางไว้ก่อน ถ้าคุณทำแบบนี้ได้ คุณจะมีความสุข และงานจะออกมาดี เรียกว่า “งานได้ผล คนเป็นสุข” นี่เป็นหลักการง่ายในการทำงาน
2) ถาม – เราจะจัดการยังไงกับความขัดแย้งและปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน
พระไพศาล – ความขัดแย้งมีหลายสาเหตุ สาเหตุประการที่หนึ่งมาจากความเห็นต่าง ความเห็นต่างเป็นแค่ความแตกต่างทางความคิด แต่ไม่จำเป็นต้องทำให้แตกแยก เราควรมองว่าความเห็นต่างก็มีข้อดี เช่น ทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย ถ้าเรามองว่า ความเห็นต่างมีประโยชน์ เราก็จะไม่ทุกข์ แต่ที่เป็นทุกข์ก็เพราะมองว่าความเห็นต่างไม่ดี
ประการที่สอง ความขัดแย้งมักเป็นผลจากความยึดติดในความคิด คนเราเมื่อมีความคิดอะไรก็ตาม มักจะยึดติดถือมั่นว่าความคิดของฉันถูกต้อง ดีเยี่ยม อันนี้เรียกว่ามีทิฐิ หรือมี “ทิฏฐุปาทาน” เมื่อเจอความเห็นต่างจึงไม่พอใจ แต่ถ้าหากเรามีความยึดมั่นถือมั่นในความคิดของเราน้อยลง เราจะทุกข์น้อยลง เมื่อได้ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เราจะยอมรับความเห็นต่างได้มากขึ้น พุทธศาสนามีคำว่า “ขันติธรรม” แปลว่า อดกลั้นก็ได้ ใจกว้างก็ได้ เราลองใจกว้างซะหน่อย อย่าตัดสินว่าความคิดที่ต่างกับเรานั้นใช้ไม่ได้ ควรมองว่าความคิดต่างนั้นช่วยให้เราเห็นมุมที่แตกต่างจากเดิม หากมองได้เช่นนี้เราจะมีความรู้สึกลบกับคนที่เห็นต่างน้อยลง และมีความสุขในการทำงานง่ายขึ้น พูดง่ายๆ คือถ้าเราคลายความยึดมั่นถือมั่นในความคิด ใจเราจะเปิดรับความเห็นต่างได้ง่ายขึ้น
ความขัดแย้งอีกส่วนมาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็มาจากความเห็นต่าง ถ้าเห็นเหมือนกันก็จะมีแต่คำชม ทีนี้เราก็ควรมองว่าคำวิพากษ์วิจารณ์มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ถ้าเราเปิดรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานก็จะมีน้อยลง สิ่งที่อาตมาอยากจะเน้นคือ ความทุกข์ใจ ไม่ได้เกิดจากคนอื่น เรามักจะโทษคนนั้นคนนี้ แต่รากเหง้ามาจากใจของเราเอง เวลามีความขัดแย้งเรามักจะโทษคนนั้นคนนี้ แต่เราลืมดูใจของเรา อาจเป็นเพราะใจของเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความคิดของเรา หรืออาจเป็นเพราะว่าเราชอบมองในแง่ลบ ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมงานก็มีข้อดีหลายอย่าง แต่เรามองเห็นแต่ด้านไม่ดีของเขา เช่น ขี้บ่น หรือพูดเสียงดัง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับการทำงานแต่เป็นบุคคลิกส่วนตัว สิ่งที่เราเห็นนั้นแม้เป็นความจริงแต่อาจเป็นแค่ส่วนน้อยของเขา ข้อดีของเขาก็มีมาก แต่เราไม่มอง ถ้าเรามองเห็นด้านดีของเขา แม้ว่าเขาจะขี้บ่น เสียงดังไปบ้าง เราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข
เราควรยอมรับว่าทุกคนมีข้อดีข้อเสียด้วยทั้งนั้น จะหาใครเพอร์เฟกต์ สมบูรณ์แบบย่อมไม่มี แต่ถ้าเมื่อไหร่เรามองแต่แง่ลบ เราจะทำงานอย่างไม่มีความสุข ถ้าเรามองเห็นรอบด้าน เห็นทั้งข้อดีข้อเสีย เราจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข และจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันน้อยลง
คนทุกวันนี้มองเห็นหรือจ้องจับผิดได้ง่าย หลายคนพอบอกให้วิจารณ์งานของเพื่อน ก็สามารถพรรณนาได้ยาวเหยียด แต่พอขอให้ชมเขากลับทำไม่ได้ อาตมาอยากแนะนำว่าก่อนจะวิจารณ์ใคร ควรมองเห็นข้อดีของคนนั้นเสียก่อน ถ้าเราจะวิจารณ์เขา 1 ข้อ เราต้องเห็นข้อดีของเขา 2 ข้อ นี่เป็นการฝึก เพราะสมัยนี้คนเราเก่งเรื่องการจับผิดมาก อาตมา เชื่อว่าถ้าเราชมกันมากขึ้นบรรยากาศในที่ทำงานจะดีขึ้น ถ้าเราลองปรับมุมมองซะหน่อยเราจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น
3) ถาม – ธรรมะข้อไหนที่เหมาะสมกับคนทำงานที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและชีวิตในการทำงาน
พระไพศาล – พระพุทธศาสนามีธรรมะหมวดหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำงานโดยตรงนั่นคือ “อิทธิบาท 4” อิทธิ แปลว่า สำเร็จ เวลาพูดถึงอิทธิเรามักจะนึกถึงอิทธิฤทธิ์ ซึ่งแปลว่าฤทธิ์ ที่ทำให้สำเร็จ แต่ว่าความสำเร็จไม่ต้องใช้ฤทธิ์ก็ได้ เราใช้ธรรมะก็ได้ ซึ่งอาตมาได้พูดไว้ในตอนแรกแล้ว คือ ฉันทะ แปลว่าความชอบ ความชอบนั้นสร้างได้ คนเราไม่อาจทำสิ่งที่เราชอบได้ทุกเรื่อง แต่เราสามารถชอบในสิ่งที่เราทำได้ ทีนี้พอมีฉันทะ ก็จะพาไปสู่ วิริยะ คือความเพียรความขยัน เมื่อเรามีวิริยะ ต่อให้ทำงานจนดึกจนดื่น ไม่มีค่าตอบแทนเราก็ทำ
เมื่อมีวิริยะเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ จิตตะ แปลว่า จดจ่อ ใส่ใจ มีสมาธิ แน่วแน่ในงาน ทีนี้เมื่อใส่ใจในงาน ก็อยากให้งานนั้นออกมาดี ก็ต้องมีการใคร่ครวญตรวจสอบว่ามีอะไรที่เราต้องปรับปรุงแก้ไข ก็จะเกิด วิมังสา คือ การใคร่ครวญ หมั่นพิจารณาตรวจสอบ ซึ่งช่วยให้เราเปิดรับคำวิจารณ์ได้มากขึ้น เปิดกว้างต่อความเห็นต่าง และทำให้เกิดการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้งานออกมาดี ทำให้เกิดความเป็นเลิศ ตรงนี้ต้องอาศัยวิมังสา
ในการทำงาน ถ้าคุณมี ฉันทะ วิริยะก็จะตามมา จากนั้นก็จะเกิด จิตตะ และนำไปสู่วิมังสา ผลที่ได้คือ งานได้ผล คนเป็นสุข แต่ทั้งหมดนี้ก็ควรมีสติเป็นตัวกำกับ เวลาทำงานก็มีสติ สติช่วยทำให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ช่วยทำให้ปล่อยวางอนาคต กำหนดจิตอยู่กับปัจจุบัน ไม่เอาเรื่องคนรอบข้างมาเป็นกังวล สติยังช่วยให้เราเครียดน้อยลง พอมีความเครียดขึ้นมา ก็จะรู้ทัน และปล่อยวางมันลงได้ นอกจากนั้นสติยังเป็นตัวช่วยให้ อิทธิบาท 4 เป็นไปได้อย่างราบรื่น เกิดทั้งความสำเร็จและความสุข
(สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล ,HR Magazine,vol 13 No.148 ,April 2015)