สมาคมยุวพุทธฯ ขอนำเสนอบทความธรรมะเพื่อการแก้ปัญหางาน สำหรับวัยทำงาน
ที่พระมหาสมปองได้เล่าไว้อย่างชวนคิด ชวนยิ้ม น่าติดตามมาฝากทุกท่านครับ
การก้าวเข้าสู่วัยทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายหรือเรื่องสนุก ถ้า ใครคิดว่าการเข้าสู่วัยทำงานจะยิ่งมีอิสระมากขึ้น ก็คงจะคิดผิด และถ้าใครคิดว่าการก้าวเข้าสู่วัยทำงานจะทำให้ชีวิตยุ่งยากและตึงเครียด ก็คิดผิดอีกเช่นกัน เพราะการทำงานสามารถเอาทั้งความสุข ความอิสระ และความตั้งใจเข้าไว้ด้วยกันได้ เพียงแต่ปฏิบัติให้เข้ากับเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
หลายคนเกิดความเครียดจากการทำงาน จนเกิดอาการเบื่อหน่ายและไม่มีความสุข ดังนั้นหากมนุษย์วัยทำงานทั้งหลายรู้จักนำหลักธรรมคำสอนตามหลักพุทธศาสนามา ปรับใช้ก็น่าจะทำให้การทำงานคล่องตัวและมีความสุขได้ไม่ยากเลย
จากหนังสือ “ธรรมะเดลิเวอรี เล่ม 3” เขียนโดยพระมหาสมปอง ตาลปุตโต พระนักเทศน์ชื่อดังบอกไว้ว่า “ธรรมะวัยทำงาน” เป็นแนวคิดของการผสมผสานระหว่างธรรมะกับการทำงาน “ธรรมะไม่ใช่เครื่องทุ่นแรงที่ทำให้ทำงานไวขึ้น หรือทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ธรรมะจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข และขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานที่มักจะมารบกวนจิตใจ” โดยคุณโยมทั้งหญิงและชายสามารถนำธรรมะมาใช้ได้ในเรื่องต่อไปนี้
ปัญหาที่๑ -จะทำเช่นไร เมื่อใจมันเบื่องาน
ไม่ ง่ายเลยที่จะรับมือกับอาการเบื่องาน เพราะเมื่อคุณเริ่มรู้สึกเช่นนั้นแล้วก็คงยากที่จะสลัดอารมณ์นั้นออก สาเหตุหลักๆ อาจเริ่มจาก “ความจำเจ ซ้ำซาก ไม่ตื่นเต้นท้าทาย หรือไม่แฮปปี้กับผู้ร่วมงาน” ถึงแม้ว่าจะไม่ง่ายที่จะกำจัดความรู้สึกนั้นแต่ก็ไม่ยากอย่างที่คิด
วิธี ง่ายๆ คือ อย่าเบื่อ และเริ่มต้นจากใจให้คิดว่า “รักงาน” ของตัวเองเสียก่อน เพราะงานที่อยากทำ งานที่ชอบก็ใช่ว่าจะสามารถทำงานนั้นออกมาได้ดี และหนทางแห่งความสำเร็จคือ การยึดหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ (มีความพอใจในงาน) วิริยะ (มีความพากเพียรในการงานนั้น แม้จะมีอุปสรรคแต่ก็อย่าถอย) จิตตะ (จดจ่อเอาใจใส่กับงานที่เราทำ) วิมังสา (มีปัญญาหมั่นพิจารณาตรึกตรองในการงานนั้น)
ปัญหาที่๒ - ทำงานมาหลายปี แต่ไม่ก้าวหน้า
หลาย คนทำงานมาเป็น 10 ปี เงินเดือนเท่าเดิม ตำแหน่งไม่ปรับขึ้น เป็นปัญหาหนักใจ พยายามอย่างไรก็ไม่ถูกใจเจ้านายเสียที เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้อย่างง่าย ก่อนอื่นเราต้องสร้างโอกาสความก้าวหน้าด้วยตัวเอง ถ้าอยากได้ความก้าวหน้าก็ต้องลงมือทำอย่ามัวแต่นั่งรอโอกาส โดยเริ่มจากทำงานอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ งานก็จะออกมาดี เมื่อผลงานดี โอกาสในการก้าวหน้าก็จะยิ่งดีตามไป และการทำงานให้ออกมาดีต้องอาศัยเวลา การเรียนรู้ และความตั้งใจอย่างสม่ำเสมอ
หรือหลักปฏิบัติ 5 ประการ คือ ต้องทำงานตลอดทั้งต่อหน้าและลับหลังเจ้านาย มาก่อนนายและเลิกงานทีหลังนาย รับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสมบูรณ์ รู้จักพัฒนาปรับปรุงงานที่ทำอย่างสม่ำเสมอ และอย่าติฉินนินทา ให้รู้จักสรรเสริญนายตามสมควร เท่านี้ก็เป็นวิธีง่ายๆ และให้คิดเสมอว่าถึงแม้ว่าใครจะไม่เห็น แต่คุณเท่านั้นที่รู้ จงภูมิใจและรักษาความขยัน ความตั้งใจในทุกรายละเอียด และทุกอย่างจะได้กับตัวเองเสมอ
ปัญหาที่๓ -ตกงาน...เตะฝุ่น...กินแกลบ
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์การตกงาน ทั้งเด็กจบใหม่ที่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีบริษัทเรียกสัมภาษณ์สักที หรือออกจากงานอย่างกะทันหันแล้วไม่สามารถหางานใหม่ได้ทัน เพราะแต่ละคนก็อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน รู้สึกแย่เพราะดันมาอยู่ในสังคมคนทำงานกันหมด และมองคนไม่ทำงานอย่างเราว่าไร้ประโยชน์
หัวใจสำคัญของความรู้สึกนี้ คือ ต้อง “เลิกท้อ” ซึ่งเป็นอย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำให้มีพลังในการเดินหน้าต่อไป และยึดหลักอริยมรรค ที่มีชื่อว่า “สัมมาสังกัปปะ” คือ คิดหาทางออกให้ถูกทาง ถูกวิธี ดีกว่าจะไปคิดทำเรื่องไม่ดี หรือหาทางออกแบบผิดด้วยการจี้ปล้นหรือทำร้ายตัวเอง เพราะชีวิตต้องมีขึ้นมีลงกันบ้าง ไม่มีใครขึ้นได้ตลอด และไม่มีใครที่ลงได้ตลอดเช่นกัน ฉะนั้นอย่าไปจมกับความท้อแท้เสียใจ รีบหาหนทางที่จะกลับขึ้นมาอีกครั้งให้ได้ เพราะชีวิตมีค่าเกินกว่าจะนั่งหมดอาลัย มีค่ามากกว่าจะคิดสั้นฆ่าตัวตาย
ปัญหาที่ ๔ -เมื่องานมาถึงทางตันจะลาออกหรือทนอยู่
อาการ นี้คล้ายๆ กับอาการเบื่องาน แต่จะหนักกว่าเพราะว่าคุณต้องทนหรือต้องลาออกจากงานไปเลย และการตัดสินใจเลือกระหว่างทั้งสองอย่างนี้ จะใช้เพียงอารมณ์และความรู้สึกไม่ได้ แต่ยังต้องมีเหตุผล และหลักธรรมช่วยในการตัดสินใจ นั้นคือ “อัปปมาทะ” หรือความไม่ประมาท ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลในการพิจารณาและตัดสินใจมากกว่าการใช้อารมณ์ เพราะหากเราประมาท ขาดการพิจารณาซึ่งเหตุผลแล้วนั้น ชีวิตเราก็เหมือนอยู่ปากเหว โดนลมพัดหน่อยเดียวก็ร่วงหล่นลงเหวไปได้ง่ายๆ พยายามนึกถึงเหตุและปัจจัย สูดลมหายใจลึกๆ ตั้งสติ ใช้เหตุผลพิจารณา ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท
ปัญหาที่ ๕ -เปลี่ยนงานบ่อย กำลังหนีอะไร
มีหลายคนที่ประสบกับปัญหานี้ สาเหตุหลักๆ แล้วอาจเกิดจากการหนีปัญหา หนีความผิดพลาด, คาดหวังว่าจะต้องเป็นงานที่ดี เงินเดือนสูงปรี๊ด หรือจากความเบื่อหน่าย วิธีแก้ไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไปเพียงรู้จักกับคำว่า “วิริยะ” ความเพียร ความพยายาม, “ความคาดหวังที่ตั้งอยู่บนความจริง” ความเป็นไปได้ และวิธีแก้สาเหตุสุดท้ายคือ “ใส่ความรักลงไปในงาน” นั่นคือต้องมีความรักในงานเสียก่อน แม้งานบางอย่างจะน่าเบื่อ ไร้สีสัน ลองหาข้อดีของงานที่ตัวเองทำแล้วดึงเอาข้อดีนั้นมาใช้ มาบำรุงจิตใจ และเป็นกำลังใจในการทำงาน
ปัญหาที่ ๖ -รับมือเจ้านาย
งาน เร่ง งานด่วน คุณภาพดี เสร็จทันเวลา เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับสภาวะนี้เป็นแน่ เพราะความคาดหวังของเจ้านายในชิ้นงาน และจะทำอย่างไรดี ?
การทำงาน เป็นการทุ่มทั้งพลังกาย พลังใจเพื่อให้ได้ผลงานออกมาสมบูรณ์ แต่การทำงานก็ต้องมองที่กำลังความสามารถของตัวเองด้วยว่าสามารถทำได้ดีแค่ ไหน หนักแค่ไหน
ในฐานะลูกน้อง ให้เราทำงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบของเราอย่างเต็มความสามารถ เต็มเวลาเสียก่อน ถ้าเรายังทำไม่ได้ทำให้งานคั่งค้าง ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของเราเองที่จะต้องอยู่ทำงานนั้นให้ลุล่วง และการที่เจ้านายสั่งให้ทำงานล่วงเวลาจนกว่างานจะเสร็จก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะยังไงก็ต้องทำงานไม่เต็มที่ในช่วงเวลาจริงๆ ช่วงเวลาที่เพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นการชดเชยเวลาส่วนที่ขาดหายไปมันก็คุ้มค่ากัน
ปัญหาที่ ๗ -ธุรกิจย่ำแย่ บริษัทจะเจ๊ง หาทางออกอย่างไร
ใน ยุคเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ทำให้เศรษฐกิจในบ้านเราล้มมาหลายครั้ง กว่าจะฟื้นตัวได้ก็แทบแย่ ส่งผลให้บรรดาเจ้าของธุรกิจทั้งเก่าและใหม่ต่างพากันขวัญผวา แต่จะไปโทษปัญหาเหล่านั้นซะทีเดียวก็ไม่ถูก เพราะต้องเข้าใจธรรมชาติอย่างหนึ่งว่า มีขึ้นก็ต้องมีลง มีสูงก็ต้องมีต่ำ ยิ่งสูงยิ่งหนาวนั้น ก็ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเวลาตกลงมา “เจ็บ” บางคนถึงขั้นปางตาย
แต่จะทำอย่างไร เพื่อให้ผ่านพ้นวันเวลานั้นมาได้ โดยอาศัยหลักธรรมที่ใหญ่ที่สุดหลักหนึ่งของศาสนาพุทธ นั่นคือ “อริยสัจ 4” อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นหลักที่ให้รู้เท่าทันถึงการเกิดแห่งทุกข์ เหตุของทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงการพ้นทุกข์ เพื่อสามารถนำมาปรับใช้ได้กับหลัก และวิธีการทำงาน
เมื่อ เป็นเช่นนี้ คงกล่าวได้ว่า ธรรมะสามารถเข้าได้กับทุกคนและทุกสถานการณ์ แม้แต่คนทำงานที่ห่างไกลวัด ก็ยังต้องมีธรรมะในการทำงานเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก http://www.posttoday.com/